พิธีเปิด โครงการอบรมหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ รุ่นที่ 2

Last updated: 1 ธ.ค. 2566  |  1255 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พิธีเปิด โครงการอบรมหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ รุ่นที่ 2

วันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมอาคารอำนวยการ ชั้น 2 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี  โดยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี  หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนเดอะแคร์การบริบาล จัดฝึกอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 20 คน


นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานพิธีเปิดฝึกอบรม กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคได้ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลก และมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เกิดปัญหาติดขัดทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตการทำงาน และการดำเนินธุรกิจ หลายธุรกิจประสบปัญหา การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว และหยุดชะงัก ท้ายที่สุดผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กขาดรายได้ สภาพคล่องไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการ แรงงานเผชิญความเสี่ยง ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนทั่วไปไม่สามารถประกอบอาชีพหรือหารายได้ ได้ตามปกติทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีพ

จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนเดอะแคร์การบริบาล ในการพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดอุบลราชธานี

นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำหนดเป้าหมาย จำนวน 240 คน/12 รุ่นๆละ 20 คน ดำเนินการระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 – 26 กุมภาพันธ์ 2565 ฝึกอบรมใน 6 สาขาอาชีพ จำแนกตามระยะเวลาการฝึกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1)ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมงประกอบด้วย 4 สาขา/8 รุ่น คือ สาขาเชฟมือทอง 2 รุ่น, สาขาเกษตรกรมืออาชีพ 2 รุ่น, สาขานักขายมืออาชีพ 2 รุ่น, สาขาการตลาดออนไลน์ 2 รุ่น

2)ระยะเวลาการฝึก 60 ชั่วโมง จำนวน 1 สาขา/2 รุ่น คือ สาขาช่างอเนกประสงค์

3)ระยะเวลาการฝึก 420 ชั่วโมง จำนวน 1 สาขา/2 รุ่น คือ สาขาผู้ดูแลผู้สูงอายุ

สำหรับสาขาผู้ดูแลผู้สูงอายุ นับเป็นรุ่นที่ 2 ระยะเวลาฝึก 420 ชั่วโมง จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2564 – 26 กุมภาพันธ์ 2565

ด้านนายเจษฎา จันทร์อุไร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสาขาอาชีพดังกล่าวโดยหวังช่วยเหลือประชาชน กำลังแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง แรงงานนอกระบบ แรงงานในสถานประกอบกิจการ กำลังแรงงานใหม่ กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ให้ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและชุมชน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำความรู้/ทักษะฝีมือไปสร้างอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงาน และส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของสังคมและประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้กับ บริษัท ศิริอรุณ เวลเนส จำกัด เพื่อเป็นการรับรองว่าเป็นสถานประกอบกิจการที่ใช้ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจว่าได้สินค้า และการบริการที่ได้รับจากสถานประกอบกิจการที่มีเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะเป็นสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

credit : https://www.thaisaeree.news/178425/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้